"สองนัคราประชาธิปไตย" อัันโด่งดังของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์(2538)

          ชนชั้นกลางในเมืองโดยทั่วไป ค่อนข้างจะใช้มาตรฐานตะวันตกในการมองประชาธิปไตยไทย ประชาธิปไตยที่ "แท้จริง" หรือ "ถูกต้อง" ในความเห็นของพวกเขา คือ ระบบที่ ประการแรก ให้ความสำคัญกับนโยบาย อุดมการณ์และคุณธรรม ความสามารถของพรรค และนักการเมืองในการนำพาประเทศชาติ และ ประการที่ สอง ถือว่าการลงคะแนนเสียงของประชาชน ต้องกระทำในฐานะปัจเจกชน ผู้ใช้วิจารณญาณทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความผูกพันหรือหนี้บุญคุณที่มีต่อผู้สมัคร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่คำนึงถึงอามิสสินจ้างใดๆ

          ส่วนชาวชนบทนั้น โดยทั่วไปเห็นประชาธิปไตยเป็นเรื่องของผู้น้อย หรือลูกน้องที่ใช้การลงคะแนนเสียงเป็นการเชื่อมโยงตนเอง และชุมชนเข้ากับเจ้านายหรือสายอุปถัมภ์สายใด การที่ชาวนาชาวไร่จะสนับสนุนใครในทางการเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับบุญคุณที่ผู้สมัคร(เครือข่ายของเขา) มีต่อตนเองและครอบครัวหรือพวกพ้องในอดีตเป็นสำคัญ รวมทั้งขึ้นกับความคาดหวังว่า จะได้รับความช่วยเหลือคุ้มครองในอนาคตจากผู้สมัครและบริวารอย่างไร เมื่อชาวชนบทหย่อนบัตรเลือกตั้งนั้น มักไม่เห็นตัวเองเป็นอิสรชน ที่แยกการเมืองออกจากความผูกพันภักดีเป็นการส่วนตัวกับใครคนใด ทั้งไม่มองว่าการลงคะแนนเสียงให้ผู้ที่ให้เงินทองแก่ตนเอง หรือกลุ่มของตน ในระหว่างการหาเสียงเป็นการรับอามิสสินจ้างแต่อย่างใด

          ด้วยมุมมองที่ต่างกันเช่นนี้ แม้ชนชั้นกลางจะไม่่่่่่่่่่่่่่่่่่่ตำหนิชาวชนบทโดยตรง แต่พวกเขาก็มักจะรังเกียจเดียดฉันท์ นักการเมืองที่ชาวชนบทชอบ ด้วยเหตุที่ว่าบุคคลเหล่านี้ มักเป็นคนที่มีลักษณะท้องถิ่น หรือภูมิภาค มากกว่าเป็นผู้ที่มีรสนิยม ความรู้ และความสามารถ ในขั้นที่จะเป็นผู้นำระดับชาติได้ อย่างที่ชนชั้นกลางต้องการ มิหนำซ้ำบางคนยังมีพฤติกรรมกระเดียดไปทางเจ้าพ่อหรือนักเลง ซึ่งคนเหล่านี้แม้จะบริการชาวบ้านได้เป็นเลิศ แต่ในสายตาของชนชั้นกลางจำนวนมาก กลับเห็นว่าพวกเขามีจุดอ่อนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต การประกอบสัมมาอาชีวะ และการมีศักยภาพในฐานะนักบริหารในมาตรฐาน...

          สิ่งที่น่าพิศวงในระบอบประชาธิปไตยไทย คือ ชาวชนบทเป็นผู้"ตั้ง"รัฐบาล ผ่านคะแนนเสียงอันท่วมท้นของพวกเขา แต่ครั้นได้รัฐบาลมาแล้วก็ไม่อาจกำหนดนโยบายแห่งรัฐได้มากนัก ขอเรียกสภาพเช่นนี้ตาม นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่าเป็นสภาพที่ชาวชนบทเป็น "ฐานเสียง" แต่ไม่ใช่ "ฐานนโยบาย" ของพรรคการเมือง

          ความจริงข้อข้อวิเคราะห์นี้หากพิจารณาโดยรวมก็น่าจะเป็นความจริง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว จะเห็นได้ว่า คนชั้นกลางในเมืองเองก็ยังอยู่ในกรอบวัฒนธรรมอุปถัมภ์อำนาจนิยม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ คนชั้นกลางแต่ละคนก็พร้อมจะ "สวามิภักดิ์" กับผู้มีอำนาจและเสวย "อภิสิทธิ์" จากการสามารถเข้าถึงแหล่งอำนาจได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ คนชั้นกลางแต่ละคนก็อยากอยู่ใน วัฒนธรรมประชาธิปไตยอุปถัมภ์และทุนนิยมอภิสิทธิ์ หากตนได้รับผลประโยชน์ ส่วนวัฒนธรรมประชาธิปไตยและทุนนิยมแท้ๆนั้น เอาไว้ใช้ในเวลาวัดผู้ื่อื่น โดยสรุปก็คือ คนชั้นกลางมีมาตรฐาน 2 ชั้น(double standard) มาตรฐานชั้นหนึ่งเก็บไว้สำหรับตนเอง คือ วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย และวัฒนธรรมผสมพันทาง มาตรฐานชั้นที่สองเอาไว้วัดรัฐบาลที่ไม่ตอบสนองประโยชน์ตนเอง และไว้วัดผู้อื่นโดยเฉพาะชาวชนบทที่ "ด้อยการศึกษา" และ "ไม่เข้าใจระบอบประชาธิปไตย" มาตรฐานผิดๆเช่นนี้เองที่ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งเน้นการ "สอนประชาธิปไตย" ให้ชาวบ้าน โดยมิเข้าใจว่า ประชาธิปไตยและทุนนิยมเสรีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในการผลิต

          สภาพเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดผลหลายประการในระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทย คือ

          ในการบริหารจัดการรัฐ การซื้อขายแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันในลักษณะ "การให้" และ "การตอบแทน" เชิงอุปถัมภ์มีไปทั่ว ตั้งแต่ในเขตเลือกตั้งระหว่างหาเสียง และหลังได้รับการเลือกตั้ง ระหว่างคนในพรรคเพื่อสร้าง "มุ้ง" เพื่อต่อรองให้ได้ตำแหน่งสำคัญ อันจะเอื้อให้ใช้อำนาจและอุปถัมภ์คนได้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นที่มาของเงินและเกียรติเพิ่มขึ้นไปอีก  ระหว่างพรรคการเมืองทั้งในสภาและในรัฐบาล และระหว่างข้าราชการผู้ต้องการไต่เต้ากับนักการเมืองผู้มีอำนาจ ซึ่งก่อให้เกิดระบบ "ค่าของคนอยู่ที่เป็นคนของใคร" ไม่ใช่ "ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน" กลุ่มทุนเองที่มีผู้มีอำนาจรัฐอุปถัมภ์ ก็ได้อภิสิทธิ์ในสัมปทานผูกขาด หรือการผูกขาดโดยการฮั้วกันเอง โดยผู้มีอำนาจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เมื่อมีโอกาสกลุ่มทุนก็จะส่งส่วย สนับสนุนผู้มีอำนาจทั้งทางการเมือง และข้าราชการเพื่อตอบแทน

         นอกจากนั้น วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบตะวันตกซึ่งมีเสาหลัก 4 เสา คือ การยึดมั่นในสิทธิ-เสรีภาพ การเคารพความเสมอภาค การเชื่อในนิติธรรมหรือกฎหมาย และการรับฟังคนส่วนใหญ่โดยคุ้มครองคนส่วนน้อย เมื่อถูกนำมาในสังคมไทยก็แปรพันธุ์ไปจากเดิม ซึ่งพิจารณาได้ดังตารางข้างล่างนี้ กล่าวคือ จะยึดมั่นเฉพาะสิทธิ-เสรีภาพของตน แต่สำหรับคนอื่นต้องมีหน้าที่ต่อตน ยอมรับสิทธิและการใช้อำนาจของตน ความเสมอภาคจะใช้ได้ต่ิอเมื่อตนต้องการเสมอกับผู้อืน แต่ถ้าตนอยู่สูงในสถานะแล้ว ก็ต้องถือว่าเป็น "บุญ" คนด้อยโอกาสทั้งหลายก็เพราะทำ "กรรม" จึงต้องรับกรรม กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ก็เฉพาะกับผู้อื่น แต่กับตน "ความสัมพันธ์พิเศษ" กับผู้ใช้กฎหมายต้องมาก่อน คอรัปชั่นเป็นสิ่งที่เลว เมื่อคนอื่นเป็นผู้ให้และผู้รับ แต่ตนเองพร้อมจะ "ให้" เมื่อได้รับผลตอบแทนส่วนตัวที่คุ้มกว่า การรับฟังเสียงส่วนใหญ่จะใช้เมื่อ ต้องการสนับสนุนสิ่งที่ตนอยากทำอยู่แล้ว คนส่วนน้อยที่ถูกไล่ที่สร้างเขื่อน ต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์ มิใยที่ประชาธิปไตยตะวันตกจะถือความเสมอภาค ต้องเสมอทั้งในสิทธิและภาระหน้าที่ ดังนั้น ในสังคมตะวันตกถือว่า คนที่ได้รับประโยชน์ต้องอุ้มชูคนส่วนน้อยที่ถูกไล่ที่ ฯลฯ สภาวะเช่นนี้ไม่อาจเข้าใจได้เลย หากไม่ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมไทยเดิม

          ความจริงการอธิบายพฤติกรรมต่างๆ ในระบบการเมืองและระบบราชการไทยยังมีอีกมากมาย อาทิ การที่ข้าราชการเป็น "เจ้าคนนายคน" และประชาชนเป็นเพียง "ราษฎร" ที่ถูกปกครอง การที่ข้าราชการระดับล่างเป็นทั้ง "ลูก-น้อง" ของผู้บังคับบัญชาที่เป็นทั้ง "เจ้า-นาย" ฯลฯ หากสำรวจคำศัพท์ สุภาษิต ฯลฯ ที่สะท้อนวัฒนธรรมทำนองนี้ที่สร้างพฤติกรรม ในลักษณะที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมดังกล่าว เราจะพบว่า การปะทะ-ผสานดังกล่าวแผ่ขยายกว้างขวางเพียงใด


ที่มา,การสร้างธรรมาภิบาลในสังคมไทย

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โลกของศิลปิน : thaivi.com

หนังสือน่าอ่าน(Good Book)