หนังสือน่าอ่าน(Good Book)

มาดูคำนิยมที่สองผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการวิจัยไทยให้เอาไว้กัน

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
               
                การเขียนเรื่องเกี่ยวกับงานวิจัยให้เป็นเรื่องสนกๆ เบาๆ สมอง ไม่ใช่จะทำกันได้ง่าย ดังนั้นเมื่อ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ส่งอี-เมล์ ในชื่อเรื่องว่า "คุยเรื่องวิจัย" เป็นตอนๆ ไปยังอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กว่า 4 พันคน และส่งสำเนาให้ผมด้วย ผมจึงอ่านด้วยความประทับใจ ว่าอาจารย์ ดร.สุธีระ เขียนแล้วอ่านสนุก และได้ข้อคิดลึกๆไปในตัว หลายประเด็นเป็นเรื่องที่ผมคิดไมถึงมาก่อน

               หลายประเด็นเป็นการ "แก้ความเข้าใจผิด" ซึ่งมีดาษดื่นมากในวงการวิจัยไทย ทำให้การวิจัยจำนวนมากผลิตผลงานได้เพียง "ขยะ" อีกชิ้นหนึ่ง ไม่คู่ควรกับการ "ขึ้นหิ้ง" ด้วยซ้ำ

               "สนุกกับงานวิจัย" เล่มนี้ จะช่วยให้ข้อคิดและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับงานวิจัย ช่วยให้ผู้อ่าน นำไปใช้ประโยนช์ต่อการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ เป็นประโยชน์ไม่เฉพาะต่อ นักวิจัยหน้าใหม่เท่านั้น แม้แต่นักวิจัย "หน้าแก่" อย่างผมย้งได้รับประโยชน์มากมาย

          แต่ข้อคิดเห็นของอาจารย์ ดร.สุธีระใน "สนุกกับงานวิจัย" เล่มนี้ก็ไม่ใช่คัมภีร์ที่โต้แย้งไม่ได้ มีหลายประเด็นที่อาจต้องตรวจสอบว่า ใช้ได้ในทุกบริบทของการวิจัยหรือไม่

          นักวิจัยที่จะสร้างตัวไปสู่ความเป็นนักวิจัยระดับยอด จะต้องมีคามรู้ในสาขาต่างๆ และความรู้ด้านกระบวนการวิจัยเป็นอย่างดี แต่ความรู้สองด้านดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ยังจะต้องผ่านประสบการณ์ "ความคิด" เกี่ยวกับหลักการของการวิจัยด้วย  หนังสือ "สนุกกับงานวิจัย" เล่มนี้เป็นเสมือนเครื่องยั่วให้คิดในแง่มุมต่างๆ เกียวกับการวิจัย เป็นทั้งอาหารสมอง และเครื่ิองกระตุ้นสมองไปในตัว

          ชายสูงอายุต้องการ "ยาดองเหล้าพลังแรด" เพื่อกระตุ้นพลังเพศฉันใด นักวิจัยก็ต้องการหนังสือ "สนุกกับงานวิจัย" เพื่อกระตุ้นพลังสมองฉันนั้น


          ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์

         ดร.สุธีระได้ตั้งประเด็น คำถาม และให้ข้อคิดเกี่ยวกับการวิจัยของประเทศ ทั้งในสถานะปัจจุบัน และในอนาคตอย่างหลากหลาย จะขอยกตัวอย่างบางประเด็นทีน่าสนใจมาก

         "ทำอย่างไร เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ" เป็นคำถามที่นำไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้มาก เช่น "เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ จะทำให้มหาวิทยาลัยมีผลงานวิจัยดีขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพหรือไม่" บางมหาวิทยาลัยเมื่อออกนอกระบบ ก็มีแต่การเพิ่มการสอนหลักสูตรภาคค่ำ หลักสูตรพิเศษ ฯลฯ หลังจากสอนนักศึกษาภาคปกติ แล้วจะมีเวลาเหลือทำวิจัยให้ดีได้อย่างไร?

          ประเด็น "การสำรวจเอกสาร" นั้น ดร.สุธีระได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่อง ที่ผู้ประเมิน research proposal มักพบอยู่เสมอ คือ literature review ที่เป็นแค่การ "เล่าให้ฟัง" แต่ขาดการสังเคราะห์ที่จะเป็นเหตุผลสนับสนุนข้อเสนอการวิจัยของตน

          เรื่อง "วารสารนานาชาติ: ความเข้าใจต่างระดับ" คำถามของ ดร.สุธีระว่า "อะำรคือวารสารระดับนานาชาติ?" เป็นคำถามที่ดีมาก วารสารที่มหาวิทยาลัยเดียวจัดทำ และประกาศเองว่าเป็นวารสารนานาชาตินั้น กลั่นกรองคุณภาพได้จริงหรือ โดยเฉพาะถ้าบทความที่ตีพิมพ์ส่วนใหญ่ มาจากบุคลากรของมหาวิทยาลัยนั้นเอง บางครั้งยังน่าสงสัยว่าจะเป็นแค่วารสารระดับชาติชั้นดีได้หรือไม่

          ดูเหมือนจะเป็นแฟชั่นสำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐ ที่มักจะคุยว่าเป็น "มหาวิทยาลัยวิจัย" อยากฟังคำวิจารณ์ของ ดร.สุธีระในประเด็นนี้ ในหนังสือเล่มต่อไป(ถ้ามี)

          สุดท้ายนี้ ใคร่ขอแนะนำหนังสือเล่มนี้ ให้ผู้วิจัยและผู้บริหารงานวิจัย ที่ต้องการพัฒนางานของตนให้ดีขึ้น

สนใจคลิกลิ้งค์ข้างล่าง

http://www.trf.or.th/book/detail.asp?pid=175&catid=1&page=3

Search Amazon.com for research

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โลกของศิลปิน : thaivi.com